วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

จังหวัดมหาสารคาม จัดพิธี”วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

จังหวัดมหาสารคาม จัดพิธีถวายราชสักการะเนื่องใน “วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ด้วยสำนึกในพระปรีชาสามารถ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ขับไล่อริราชศัตรูตลอดพระชนม์ชีพ

ที่หอประชุมจังหวัดมหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ นายนที มนตริวัตร รอง ผวจ.มหาสารคาม นำพสกนิกรจังหวัดมหาสารคาม ร่วมพิธีถวายราชสักการะเนื่องใน “วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่ได้เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง

โดยผู้ว่าราชจังหวัดมหาสารคาม ได้วางพวงมาลา จุดธูป เทียน เครื่องทองน้อย หน้าพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากนั้นกล่าวถวายราชสดุดี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระเกียรติคุณของพระองค์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ขับไล่อริราชศัตรูตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อสร้างความเป็นเอกราชให้แก่ชาติไทย และเป็นมหาวีรกรรมที่เลื่องลือปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ตราบจนทุกวันนี้

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปีพุทธศักราช 2133 ตลอดรัชสมัยของ พระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากหงสาวดี และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าครั้งใดในอดีตที่ผ่านมา

งานสงครามในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งในดินแดนไทยและดินแดนข้าศึก ได้ชัยชนะทุกครั้ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำทัพ ทรงริเริ่มนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการทำสงคราม และเปลี่ยนแนวความคิดจากการตั้งรับมาเป็นการรุก และริเริ่มการใช้วิธีรบนอกแบบ การทำสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้า ยกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปีคือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ นั่นคือเมื่อหงสาวดีนำโดยพระมหาอุปราชามังสามเกียดยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา อีกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนกระทั่งสามารถเอาพระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พุทธศักราช 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา