วันยุทธหัตถี-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช-ข่าว-มหาสารคาม

ชาวมหาสารคาม น้อมรำลึก วันยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 จังหวัดมหาสารคาม จัดพิธีร่วมงานรัฐพิธีถวายราชสักการะ เนื่องใน “รัฐพิธีวันยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมจังหวัดมหาสารคาม  ได้จัดพิธีถวายราชสักการะ เนื่องใน “รัฐพิธีวันยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” โดยมีนายเกียรติศักดิ์  จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีนำข้าราชการ และประชาชนชาวมหาสารคาม ประกอบพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ ถวายราชสักการะหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวันยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมกล่าวถวายราชสดุดี เพื่อน้อมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้แสดงพระปรีชาสามารถกระทำสงคราม ยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชาอย่างสมพระเกียรติ แม้ขณะนั้นพระองค์จะตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึกและอยู่ในภาวะเสียเปรียบ ยังมาซึ่งความเป็นชาติและอธิปไตยของผืนแผ่นดินไทยในปัจจุบัน
สำหรับที่มาของ “วันยุทธหัตถี” สืบเนื่องจากวันสำคุญทางประวัติศาตร์ คือ เมื่อปี พ.ศ. 2135 ในครั้งนั้นพระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าว จึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งระหว่างที่การรบกำลังดำเนินอยู่นั้น ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถก็ได้ไล่ล่าศัตรูไปจนออกนอกเขตแดน จนทำให้ทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของศัตรูโดยไม่รู้ตัว แต่ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ พระองค์ก็มีพระสติ ไม่หวั่นไหว และทรงแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ว่าทางที่จะรอดได้มีเพียงทางเดียวเท่านั้น คือเชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำยุทธหัตถี ในท้ายที่สุดพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย ทำให้ในสมัยนั้นไทยได้ขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวางกว่าสมัยใด ๆ ซึ่งการทำยุทธหัตถีในครั้งนั้น ถือว่าเป็นการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และยังเป็นการรบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย  ดังนั้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 กำหนดวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นวันรัฐพิธี โดยให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปี เป็นวันยุทธหัตถี
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือที่ชาวบ้านทั่วไปในครั้งนั้น เรียกว่า ” พระองค์ดำ ” ทรงพระราชสมภพที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ.2098 ในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ราชวงศ์สุโขทัย และสมเด็จพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระราชชนนี ราชวงศ์สุวรรณภูมิทรงมีพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระอนุชา คือ พระสุพรรณกัลยาณี และสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมีพระชนมายุ 50 พรรษาทรงประชวร ขณะเสด็จไปตีกรุงอังวะและประทับแรมอยู่ที่ตำบลทุ่งแก้ว แขวงเมืองหาง และเสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปี มะเส็ง พุทธศักราช 2148 เมื่อครั้งที่พม่าได้ยกไพร่พลมุ่งเข้ามาทางด่านพระเจดีย์ สามองค์ เพื่อเข้าตีกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระนเรศวร ได้นำทัพทำศึกกับพม่าจนพระมหาอุปราชาล่าทัพถอยหนีไป นับเป็นชัยชนะศึกใหญ่ และทรงกอบกู้อิสรภาพแก่ชาติ