มมส กล่องข้าว

มมส ไอเดียล้ำ ทำ”กล่องข้าวน้อยให้แม่”ช่วยชาวอุบลฯน้ำท่วม

มมส ไอเดียล้ำ…ทำ”กล่องข้าวน้อยให้แม่” ข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ ส่งช่วยพี่น้องชาวอุบลฯ ที่กำลังถูกน้ำท่วม

นิสิตคณะเทคโนโลยี ม.มหาสารคาม  และคณาจารย์ร่วมกันทำ กล่องข้าวน้อยให้แม่ ข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ หวังส่งไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี อาจารย์เผยเก็บไว้รับประทานได้นาน อยู่นอกตู้เย็นได้ 2 ปี ไม่เน่าโดยไม่เสีย

ดร.อัศวิน อมรสิน อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดพายุโพดุล และดีเปรสชั่น คาจิกิ ทำให้ให้ฝนตกหนักลอดส่งผลเกิดน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะน้ำท่วมหนักที่จังหวัดอุบลราชธานี  ทำให้ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ดังนั้นจึงได้คิดผลิต “ข้าวเหนียวหมูย่าง” สเตอริไลซ์ ที่ไม่เน่าไม่เสีย ในโครงการ “กล่องข้าวน้อยให้แม่” โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิทานที่เล่าต่อ ๆ กันมาจากบรรพบุรุษของผู้เฒ่าผู้แก่ ของังหวัดยโสธร คือนิทานเรื่อง (ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ) ที่มีการอัดข้าวเหนียวไว้แน่นในกล่องข้าวเล็กๆ จนดูเหมือนมีน้อยแล้วลูกก็ฆ่าแม่เพราะโมโหหิว แต่สุดท้ายก็กินข้าวไม่หมด

สำหรับขั้นตอนการผลิต ได้เริ่มรวบรวมบรรจุภัณฑ์ วัตถุดิบ เงินบริจาคเพื่อเป็นทุนในการจัดหาวัตถุดิบ และจิตอาสาตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยจิตอาสาส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในภาควิชาฯ ที่อยู่ในช่วงเตรียมสอบ แต่ทุกคนก็พร้อมใจที่จะเข้ามาช่วยผลิตเพื่อส่งต่อให้ผู้ประสบอุทกภัย ขณะที่วัตถุดิบอื่นๆ ผู้ประกอบการที่ทราบว่าจะนำมาช่วยเหลือชาวอุบลฯ ที่เดือดร้อน หลายร้านก็ได้ร่วมบริจาควัตถุดิบ และลดราคาสินค้าให้

เมื่อได้วัตถุดับและจิตอาสามาแล้ว ก็ต้องมีการนึ่งข้าวเหนียว และหมักหมู ก่อนจะนำไปย่าง และแพคใส่บรรจุภัณฑ์อย่างดี จากนั้นจะนำไปซีล และเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ สเตอริไลซ์ ซึ่งต้องใช้เวลานาน เนื่องจากการอัดตัวของข้าวเหนียวทำให้การส่งผ่านความร้อนช้า จึงต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

หลังจากผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว “ข้าวเหนียวหมูย่าง” จะไม่เน่าไม่เสีย เก็บนอกตู้เย็นได้ 2 ปี เหมาะสำหรับพื้นที่น้ำท่วมหนักที่ขนส่งอาหารสด อาหารแห้งอื่นๆ ไม่สะดวก โดยผู้ประสบภัยสามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องอุ่น แต่ข้าวเหนียวอาจจะแข็งกว่าปกติ แนะนำให้นึ่งหรือต้มเพิ่มเติมหากอยากทำให้ข้าวนุ่มขึ้น

หากต้องการให้รสชาติอร่อยแบบดั้งเดิมสามารถนำไปอุ่นเตาไมโครเวฟ 1-2นาที หรือต้ม 3-5 นาที โดยไม่ต้องนำออกจากถุง เพราะถุงที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทนความร้อนได้ 100-120 องศาสเซลเซียส โดยด้านข้างถุงจะมีสติ๊กเกอร์อธิบายส่วนประก อบและวิธีบริโภคไว้อย่างชัดเจน โดยผลิตเข้าเครื่องฆ่าเชื้อได้รอบละ 84 ชุด โดยแต่ละรอบใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ล่าสุดทำได้แล้ว 1,500 ชุดและกำลังระดมนิสิตช่วยทำเพิ่ม โดยตั้งเป้าจะทำให้ได้มากที่สุดและนำส่งพี่น้องประชาชนชาวอุบลที่กำลังประสบภัยน้ำท่วม