กฟผ. แลกเปลี่ยนความรู้พลังงาน เรียนรู้กิจกรรมใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ชุมชนและป่าต้นน้ำ

กฟผ. แลกเปลี่ยนความรู้สถานการณ์พลังงาน เรียนรู้กิจกรรมใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนและป่าต้นน้ำภาคเหนือ

โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน กฟผ. ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม นำหัวหน้าส่วนราชการและสื่อมวลชน แลกเปลี่ยนความเข้าใจสถานการณ์พลังงาน ร่วมกิจกรรม CSR ในพื้นที่ชุมชนและป่าต้นน้ำภาคเหนือ

เขื่อนภูมิพล จ.ตาก
มอบอุปกรณ์การเรียน ชุมชนชาวไทยภูเขา หมู่บ้านห้วยปูแกง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน นำโดย นายพิศิษฐ์ ธรรมศักดิ์จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน นางสุภาวิณี นาควิเชตร หัวหน้าหมวดประชาสัมพันธ์ นำคณะจากส่วนราชการ และสื่อมวลชนจากจังหวัดชลบุรี นครสวรรค์ และขอนแก่น เข้าร่วมกิจกรรมโครงการสัมมนาเชิงประจักษ์ โดยเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง จังหวัดเชียงใหม่  โรงไฟฟ้าดีเซล(โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่อง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน และโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 22 – 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในด้านสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน รวมถึงแหล่งผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีการปรับปรุงและขยายระบบตามสถานการณ์ด้านพลังงาน ก่อนนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจ

ภายในอาคารโรงผลิตไฟฟ้าบ้านขุนกลาง ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 3 ชุด
โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง ใช้พลังงานน้ำจากน้ำตกสิริภูมิมาผลิตกระแสไฟฟ้า

นายพิศิษฐ์ ธรรมศักดิ์จินดา กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ. มีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังน้ำเขื่อน พลังแสงอาทิตย์ กังหันลม 2.โรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อน  3.โรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อนร่วม 4.โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานดีเซล และ5.อื่นๆ(ลำตะคองชลภาวัฒนา) นอกจากนี้ยังมีการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชน เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่จะนำไปสร้างความเจริญเติบโตของชุมชน เมือง และเศรษฐกิจของประเทศทุกระดับ กฟผ. จึงต้องดำเนินการผลิตไฟฟ้ารวมถึงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่  ซึ่งแหล่งผลิตไฟฟ้าทุกประเภทล้วนมีความสำคัญทั้งในระดับชุมชนและในเมืองใหญ่ อย่างเช่น โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง ถือเป็นโรงไฟฟ้าเพื่อชุมชนไทยภูเขาบนดอยสูง เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่ พ.ศ.2527 ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ ใช้พลังงานน้ำจากน้ำตกสิริภูมิมาผลิตกระแสไฟฟ้า นำไปใช้ประโยชน์ในโครงการหลวงดอยอินทนนท์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขา

“แต่ในขณะเดียว กฟผ. โดยโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ก็ตระหนักถึงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่อาจไม่เข้าใจและเกิดความกังวลใจในการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า จึงเกิดแนวคิดประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความใส่ใจของ กฟผ. ในการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) คือการดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรม และ   การจัดการที่ดี โดยรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งเเวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการศึกษาของเด็กและเยาวชน และการอนุรักษ์ป่าไม้ ที่มาดำเนินการให้เกิดความประจักษ์ในครั้งนี้ด้วย” นายพิศิษฐ์ กล่าว

โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง
พื้นที่ชุมชนและการเกษตรบนดอยอินทนนท์ ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง

 

สำหรับโครงการสัมมนาเชิงประจักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก ในครั้งนี้ หัวหน้าส่วนราชการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสื่อมวลชน ได้ร่วมทำกิจกรรมของ กฟผ. ด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนชาวไทยภูเขา พร้อมมอบอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า ให้กับเด็กและเยาวชนโรงเรียนบ้านน้ำเพียงดิน ภายในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” หมู่บ้านห้วยปูแกง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

กฟผ.มอบอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า ให้กับเด็กและคนในชุมชน
ชุมชนชาวไทยภูเขา
ชุมชนชาวไทยภูเขา

ส่วนอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ คือ เยี่ยมชมและร่วมกันสร้างฝายตามรอยพ่อของแผ่นดินที่บริเวณป่าต้นน้ำเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก โดย กฟผ. ดำเนินการมาอย่างยาวนาน มีการจัดตั้งโครงการปลูกป่า การสร้างฝายชะลอน้ำ 910 ฝาย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในปีนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 1,400 ฝาย

นายณัฐพล จิตต์มั่น หัวหน้าชุดดับไฟป่าเขื่อนภูมิพล(กลุ่มเสือดำ) เปิดเผยว่า เริ่มมีการสร้างฝายชะลอน้ำตั้งแต่ พ.ศ.2538 ฝายที่ดำเนินการสร้างส่วนใหญ่จะไม่ใช้งบประมาณ เพราะจะใช้วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ไม้ ก้อนหิน การสร้างฝายจะสร้างตั้งแต่พื้นที่บนยอดเขา ทั้งในลำห้วยหลักและลำห้วยสาขาซึ่งมีระยะทางไกลมาก ส่วนใหญ่จะใช้หินในการสร้างมากกว่าเพราะจะมีอายุใช้งานได้ยาวนานกว่า วิธีการคือใช้ก้อนหินก้อนใหญ่เป็นโครงสร้างและใช้หินก้อนเล็กๆวางแทรกลงไปในช่องระหว่างหินก้อนใหญ่ โดยป่าต้นน้ำเขื่อนภูมิพล มีการสร้างฝายที่ลำห้วยสาขาและห้วยแขนงแล้ว กว่า 3,000 ฝาย

สร้างฝายชะลอน้ำ
สร้างฝายชะลอน้ำ

“นอกจากการสร้างฝายแล้ว เขื่อนภูมิพลยังจัดตั้งโครงการอนุรักษ์ผืนป่าตามรอบพ่อของแผ่นดิน เพื่อดูแลป่าต้นน้ำทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำตลอดทั้งปี การทำแนวป้องกันไฟป่าและการดับไฟป่าในช่วงหน้าแล้ง ตอนนี้เราเริ่มเข้าทำแนวป้องกันไฟป่าของป่าต้นน้ำเขื่อนภูมิพลระยะทาง 35 กิโลเมตร และเชื่อมโยงกับเครือข่ายป่าชุมชนทุกชุมชนอีกประมาณ 210 กิโลเมตร โดยมีเจ้าหน้าที่กลุ่มเสือดำเขื่อนภูมิพลเป็นกำลังหลักดำเนินการร่วมกับภาครัฐและประชาชน” นายณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 466 เมตร ความกว้างของ สันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุสูงสุด 13,462 ล้านลูกบาสก์เมตร จัดเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งที่ใหญ่และสูงสุดในเอเชียอาคเนย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้าง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2504

สร้างฝายชะลอน้ำ
สร้างฝายชะลอน้ำ
เขื่อนภูมิพล จ.ตาก
เขื่อนภูมิพล จ.ตาก