เปิด 7 วิสัยทัศน์พัฒนาเมืองมหาสารคาม นายกเก่ง ภาคิน

เปิด 7 วิสัยทัศน์พัฒนาเมืองมหาสารคาม นายกเทศมนตรีป้ายแดง เก่ง ภาคิน

หลังจากจบการเลือกตั้งนายากเทศมนตรีเทศบาลเมืองมหาสารคามในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2560 นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ ผู้สมัครนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม หมายเลข 4 ทีมพลังใหม่ คว้าชัยชนะไปอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 10,081 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งเกินครึ่ง สร้างความฮือฮาให้กับชาวจังหวัดมหาสารคามเป็นอย่างมาก เนื่องจาก นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ เป็นผู้สมัครที่อายุน้อยที่สุด ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาอาสาพัฒนาเมืองมหาสารคามให้เจริญรุ่งเรือง วันนี้ทีมข่าว Sarakham360 มีบทสัมภาษณ์  นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์   หรือที่รู้จักกันในชื่อเฮียเก่งมาฝาก

โดยนายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ ผู้สมัครนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม ว่าที่นายกเทศมนตรีป้ายแดง เปิดเผยว่า ตนเองก้าวมาสู่ในยุคการเมืองท้องถิ่นยุคใหม่ ของคนรุ่นใหม่ จะมีการทำงานโดยมีวิสัยทัสน์หลายๆด้านเพื่อพัฒนาเมืองมหาสารคาม เนื่องจากเทศบาลเมืองมหาสารคามมี 30 ชุมชน มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตนเองได้มองว่าการเมืองท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมาก ที่จะทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งในทุกมิติและเจริญรุ่งเรือง โดยการทำงานให้มีความสำเร็จได้ อปท จะต้องเป็นตัวกลางให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นและขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน โดยยึดปัญหาและการแก้ไขปัญหาของชุมชนเป็นหลักให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพ่อแม่พี่น้องในเขตเทศบาลเมือง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะต้องนำพาให้ชุมชนและเทศบาลเมือง ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกปัจจุบัน

ปัญหาสำคัญในอันดับต้น ๆ คือ 1. ปัญหาชีวิตและปากท้องและเศรษฐกิจในยามวิกฤตของโรคระบาด ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ในการที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้กับชุมชนเป็นอันดับแรก อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนเทศบาลเมืองมหาสารคามและหาโอกาสใหม่ๆเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในเมืองมหาสารคาม จะทำให้เมืองแห่งความสุขและเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้อย่างไร สิ่งที่จะต้องพัฒนาและสร้างจุดแข็งให้กับเมืองมหาสารคาม คือ คลองสมถวิลและห้วยคะคาง เมืองมหาสารคามไม่มีแหล่งท่องเที่ยว ทะเล ภูเขา ป่าไม้ ทำให้เราต้องมาปรับปรุงสิ่งที่เป็นจุดแข็ง ถ้าไม่มีก็ต้องสร้างขึ้นมาเพิ่ม เพื่อให้ผู้คนรู้จักมหาสารคามมากยิ่งขึ้น โดยมีแนนวคิดให้คลองสมถวิลและลำห้วยคะคางที่พาดผ่านเทศบาลเมืองมหาสารคามคือจุดแข็งของเมือง  เราจะต้องปรับปรุงภูมิทัศน์ในลักษณะสวนสาธารณะ และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้หลายอย่าง ใช้ในกิจกรรมทางน้ำต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ เช่น ตลาดน้ำ, ด้านการท่องเที่ยว เช่น เส้นทางนั่งเรือชมเมือง, ด้านกีฬา เช่น เส้นทางออกกำลังกาย หรือ จัดงานประเพณีแข่งเรือ และ ด้านวัฒนธรรม-ประเพณี เช่น ตักบาตร ไหลเรือไฟ ลอยกระทง การละเล่นพื้นบ้านในชุมชนเกี่ยวกับน้ำ และเพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน

2. การพัฒนาพื้นที่เลิงน้ำจั้น เพราะอยากพัฒนาพื้นที่เลิงน้ำจั้นซึ่งเป็นพื้นที่ของเทศบาล โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 จะย้ายสำนักงานเทศบาลมาอยู่ที่เลิงน้ำจั้น เพราะ สำนักงานเทศบาลเดิมค่อนข้างเล็ก และมีข้อจำกัดหลายๆอย่าง จากสมัยก่อนที่มีประชากรประมาณหนึ่งหมื่นคน และปัจจุบันมีประชากรห้าหมื่นคน ทำให้ความแออัดที่จะเข้าไปใช้บริการที่เทศบาลค่อนข้างมีปัญหา เช่น สถานที่จอดรถ, พื้นที่ใช้สอยยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร และจะรวมศูนย์บริการประชาชนแบบ one stop service ได้แก่ การไฟฟ้า, การประปา, โทรศัพท์, อินเตอร์เน็ต, ธนาคาร และส่วนที่ 2. จะพัฒนาพื้นที่เลิงน้ำจั่นซึ่งอยู่ติดกับห้วยคะคาง ให้เป็นสวนสุขภาพ และมีสถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองมหาสารคาม และผลักดันให้เป็น Landmark ของเมือง

3. ความปลอดภัย ในด้านต่าง ๆ เช่น อาชญากรรม ยาเสพติด ดังนั้น เราจะต้องป้องกันความปลอดภัยให้กับลูกหลานของเรา ให้ผู้ปกครองรู้สึกถึงความเป็นอยู่ของลูกหลานตัวเองว่า เมืองมหาสารคามมีความปลอกภัย จุดไหนที่มีความล่อแหลมหรือมีความเสี่ยง ก็จะเพิ่มการควบคลุมดูแลผ่านระบบ CCTV อยากจะทำให้เมืองมหาสารคามให้มีความปลอดภัย

4. เรื่องขยะ จะมีระบบจัดการหลักๆ คือ 1. ทำให้เมืองปลอดถังขยะ  2. แยกขยะเปียกและแห้ง เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะ แยกขยะ และขอความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ  และ 3. สร้างมูลค่าให้กับขยะ ให้เกินประโยชน์สูงสุด เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ด้วยการ reduce reuse และ recycle

5. ยกระดับตลาดสดเทศบาลเมืองมหาสารคาม และก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้า ปลีก-ส่ง อาหารปลอดภัยแห่งใหม่ของภูมิภาค โดยจะมีการจัดหมวดหมู่อาหาร ประเภทเดียวกันเอาไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกของผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงมีระบบการจราจร ให้ผู้มาจับจ่ายใช้สอยมีความสะดวกสบายมากในการจอดรถและการเดินทางมากยิ่งขึ้น และจะเพิ่มช่องทางตลาดสดออนไลน์อีกหนึ่งช่องทางเพื่อส่งเสริมการขาย

6. ดูแลผู้สูงอายุ ด้านสุขภาพและสาธารณะสุข โดยการยับยั้งและป้องกันการเกิดโรค โดยใช้application และวิถีชีวิตในการดูแลสุขภาพ เพื่อผู้สูงอายุสุขภาพแข็งแรง ลดปัญหาให้ภาครัฐ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ลดความเสี่ยงและลดจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคกลุ่ม NCDs ลดลง 10% ต่อปี

7. ในส่วนของด้านการศึกษา มหาสารคามเป็นเมืองตักสิลา เมืองการศึกษา มีสถานศึกษามากมาย ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ราชภัฏ โรงเรียนระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือแม้กระทั่งสายอาชีพ จะเพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเลื่อมล้ำเพื่อยกระดับการศึกษา โดยเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับประถมวัยเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยและพร้อมที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเองก่อนเข้าวัยเรียน นอกจากนี้โรงเรียนเทศบาลทั้ง 7 แห่ง จะส่งเสริมให้มีการเรียน 2 ภาษา โดยมีการเน้นภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานให้เด็ก และมีภาษาที่3 เป็นoptional, เพิ่มหลักสูตรทักษะการเอาตัวรอด ,การสร้างเถ้าแก่น้อย ส่งเสริมการค้าขายให้กับเยาวชนในชุมชน รวมถึงส่งเสริมด้านกีฬาให้กับเยาวชนในเขตเทศบาลเมืองมหาสาคามและผลักดันให้มีโรงเรียนกีฬา 1 ใน 7 โรงเรียน ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม พัฒนาทักษะความเป็นเลิศด้านกีฬาให้เกิดเป็นอาชีพได้